โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นแล้วรีบรักษา เพราะว่ารุนแรงกว่าที่คิด!
รู้ไหม? ทั่วโลกของเรานั้นมีคนป่วยเป็น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) มากกว่า 230 ล้านคนเลยนะ และโรคภูมิแพ้ผิวหนังที่ว่านี้ยังพบได้ในทุกช่วงอายุเลยด้วย ส่วนในไทยจะพบบ่อยที่สุดในเด็กทารกจนถึงช่วง 3 ขวบปีแรก ขณะที่เด็กอายุ 6-12 ปี จะป่วยเป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 16.51 และพออายุมากขึ้นก็จะมีอัตราที่ลดน้อยลงไป แต่หากเป็นแล้วไม่รีบทำการรักษา อาจมีอาการรุนแรงและเป็นเรื้อรังจนถึงตอนโตได้
นพ.กันย์ พงษ์สามารถ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ โรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ไว้ว่า โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นมากกว่าอาการคันที่ผิวหนัง เพราะโรคนี้มีกระบวนการของการดำเนินโรคอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้แบ่งชั้นของความรุนแรงของโรคเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ รุนแรงน้อย รุนแรงปานกลาง และรุนแรงมาก ซึ่งมีปัจจัยหรือตัวแปรที่เข้ามากระตุ้นความรุนแรงของโรคได้ในหลายมิติ


อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น
· ปัจจัยทางพันธุกรรม
ซึ่งเป็นปัจจัยภายในของผู้ป่วยที่เกิดความผิดปกติของผิวหนังร่วมกับการมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งมีประวัติเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง บุตรก็มีโอกาสเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง สูงกว่าคนปกติ 2-3 เท่า แต่หากบิดาและมารดาเป็นผู้ป่วยโรคนี้ทั้งคู่ บุตรก็มีโอกาสเป็นสูงกว่าคนปกติ ถึง 3-5 เท่า
· ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการกำเริบ โดยผู้ป่วยแต่ละรายจะมีปัจจัยกระตุ้นที่แตกต่างกันไป ปัจจัยกระตุ้นที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัด การติดเชื้อที่ผิวหนัง การแพ้สารเคมีบางชนิด การใส่เสื้อผ้าที่ระคายเคือง หรือสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เป็นต้น
สำหรับโรคนี้มีวิธีการสังเกตคือ ผิวหนังจะแห้ง แดง คัน โดยอาการคันจะเด่น ผู้ป่วยจะคันยุบๆ ยิบๆ จนไม่สามารถนั่งอยู่นิ่ง ๆ ได้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้บริเวณผิวหน้า แขน ขา ข้อพับ ซอกคอ มือ เท้า รอบใบหู หรือศรีษะ ในรายที่มีอาการรุนแรงก็จะมีผื่นขึ้นได้ทั้งตัว มีน้ำเหลืองเยิ้มตามผิวหนัง และผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจร่วมด้วย ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานมาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการบรรเทาลง กลับมามีความมั่นใจในการใช้ชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้


อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม