9 ข้อที่วัยทำงานควรจำไว้ แล้วจะห่างไกลจาก “โรคอ้วน”
กลุ่มคนวัยทำงานส่วนใหญ่ ใช้เวลาทำงานไปไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งบางคนอาจก็จะมากไปกว่านั้น ทำให้ใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ เลือกซื้อหรือทานอาหารจานด่วนที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากต้องการความสะดวกและรวดเร็วเพื่อให้สามารถกลับมาทำงานได้ตามตารางเวลา และส่วนใหญ่ยังขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จนเสี่ยงต่อการเป็น “โรคอ้วน”
ซึ่งจากข้อมูล Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนเมษายน 2564 พบว่า คนไทยอายุ 18-59 ปี เป็นคนอ้วนระดับ 1 คือมีค่า BMI 25-29.9 จำนวนร้อยละ 20.31 และอ้วนระดับ 2 คือมีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 จำนวนร้อยละ 6.22


นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคอ้วนนั้นยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและเสี่ยงเสียชีวิตถ้าหากว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือผู้ที่เข้าข่ายจึงถือว่าน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามเราสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้เพื่อให้ห่างไกลจากโรคอ้วน ตามคำแนะนำของกรมอนามัย ดังนี้
1) กินอาหารให้เพียงพอ ไม่กินมากเกิน ไม่กินน้อยเกิน
2) กินอาหารหวานน้อย มันน้อย เค็มน้อย
3) ชิมอาหารก่อนปรุง ปรุงให้น้อยที่สุด หรือไม่ปรุงเพิ่มเลยยิ่งดี
4) หากทำอาหารกินเอง แนะนำให้ใช้สมุนไพรไทย เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอม กระทียม หรือเครื่องเทศต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติอาหารแทนการเติมน้ำปลา น้ำตาล
5) กินผักต้ม ผักลวก ผักยำ ผักสด หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารใส่กะทิ เช่น เนื้อสัตว์ทอด เนื้อสัตว์ติดมัน หนังไก่ แกงกะทิ สลัดน้ำข้น เป็นต้น
6) กินอาหารสด แทนอาหารแปรรูป
7) หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มรสหวานต่าง ๆ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชานมไข่มุก กาแฟเย็น เครื่องดื่มสำเร็จรูป
8) หลีกเลี่ยงการกินบะหมี่ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารกล่องแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปจากโรงงานอุตสาหกรรม
9) นอนพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7–9 ชั่วโมง
ทั้งนี้ยังมีคำแนะนำอีกด้วยว่าควรชั่งน้ำหนักและวัดรอบเอวเป็นประจำ พร้อมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรง
ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม