5 โรคร้ายวัยทำงาน ไม่อยากตายไวต้องหันมาใส่ใจสุขภาพ
คนทำงานวัยหนุ่ม-สาว ที่ยังอายุไม่มากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสุขภาพของตัวเองเท่าไหร่นัก เนื่องจากอายุยังไม่มากก็เลยไม่กังวล ทำงานเต็มที่ ปาร์ตี้เต็มเหนี่ยว ใช้ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบตลอดเวลา พักผ่อนน้อย รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เชื่อไหมว่าพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมาในที่สุด
ดังนั้นเราเลยมาเตือนกันให้ระวัง ด้วยการหยิบข้อมูลของ 5 โรคยอดฮิตที่คุกคามสุขภาพและชีวิตของคนวัยทำงานมานำเสนอกัน ส่วนจะมีโรคอะไรบ้างนั้นลองมาดู


1) โรคปลอกประสาทอักเสบ
จากข้อมูลทางสถิติโรคปลอกประสาทอักเสบนั้นถือเป็นโรคภัยใกล้ตัวของผู้หญิงวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุช่วงระหว่าง 20 – 40 ปี หากเป็นมากเข้าก็จะทำให้สูญเสียการเคลื่อนไหวของร่างกาย จนอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
2) ออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยตรงกับหนุ่ม-สาวออฟฟิศ เหตุผลหลักเลยก็คือการที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ไม่ได้ขยับตัวไปไหน ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการตึงและอักเสบ และจากสถิติของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า “คนวัยทำงานร้อยละ 60 มีภาวะโรคออฟฟิศซินโดรม”
3) โรคเครียดลงกระเพาะ
โรคเครียดลงกระเพาะ ส่วนมากเกิดจากความเครียด เพราะในขณะที่เราเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ จนเกิดการระคายเคือง ส่งผลให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร แน่นอนว่าหนุ่ม-สาววัยทำงาน หลายคนมีความเสี่ยง
4) โรคกรดไหลย้อน
งานการเร่งรีบจนไม่มีเวลาทานอาหาร หรือบางทีก็เลือกทานแต่อาหารที่รสจัด ของมัน ของทอด และน้ำอัดลม จึงก่อให้ความความเสี่ยงที่จะเป็นกรดไหลย้อน อีกหนึ่งพฤติกรรมเสี่ยงก็คือการทานอาหารดึกเกินไป หรือทานอาหารใกล้เวลานอน ทานเสร็จแล้วนอนทันที จึงทำให้เป็นโรคนี้ได้
5) โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อีกหนึ่งโรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนเกิดโรคนี้คือ เมื่อปวดปัสสาวะแล้วไม่ยอมลุกไปเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำน้อยหรือเลือกดื่มกาแฟแทนน้ำเปล่า ซึ่งพฤติกรรมที่ทำจนเกิดเป็นนิสัยแบบนี้ส่งผลให้เกิดโรคร้ายได้
ก็อยากเตือนให้หลายคนระวังเอาไว้และหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเอง แม้ว่าตอนนี้จะยังไหวร่างกายแข็งแรง แต่ถ้าหากยังละเลยเรื่องสุขภาพต่อไป ช่วงบั้นปลายชีวิตอาจจะกลายเป็นคนสุขภาพไม่ดีก็ได้นะ
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ


อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม